มูลนิธิรามาธิบดี | เสียงจากใจผู้รับ

แสงสว่าง...จากทางที่มืดมิด

 

“จันดี รบชนะ”  ชื่อที่ฉันได้ยินบ่อยครั้งจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่งานสังคมสงเคราะห์  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ็บป่วย ยากดีมีจน  หรือแม้กระทั่งปัญหาชีวิต หากจะบอกว่าเธอคนนี้ใช้ชีวิตที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเหมือนบ้านหลังที่ 2 ก็คงไม่ผิด เพราะเกือบ 20 ปีมาแล้ว ที่จันดีต้องดั้นด้นไปกลับกรุงเทพ-อุทัยธานี เพื่อพาลูกสาวพิการทางสมอง เข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ... ไม่คิดว่าวันนี้ ฉันจะมีโอกาสได้มานั่งพูดคุยกับหญิงแกร่งคนนี้ตัวเป็นๆ  ผู้หญิง...ที่เป็นเหมือน “ฮีโร่” ของทุกคนในครอบครัวเลยก็ว่าได้

 

กว่า 3 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ถึงบ้านเกิดของจันดีที่จังหวัดอุทัยธานี ในที่สุดรถก็พาพวกเราก็มาหยุดที่หน้าบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกหนึ่ง ไม่นานมีหญิงวัยกลางคน รูปร่างสันทัดแง้มประตูมาต้อนรับด้วยท่าทีที่ดูเป็นกันเอง เจ้าหน้าที่ที่ไปด้วยแนะนำให้ฉันรู้จักจันดีอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ... จันดีในวัย 63 ปี  ใบหน้ามีริ้วรอยขึ้นตามวัย แต่ร่างกายกลับยังดูกระฉับกระเฉงเหมือนสาว ๆ รอยยิ้มบนหน้าเธอทำให้ฉันอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก

 

 

มองลอดผ่านประตูบ้านเข้าไป สังเกตเห็นผู้หญิงนอนอยู่บนพื้นปูนกลางบ้าน จันดีพยายามตะโกนพูดคุยกับเธอ แต่ก็มีเพียงเสียงอ้อ ๆ แอ้ ๆ จากตอบรับมาเท่านั้น ... ไม่ผิดจากที่ฉันคิดไว้ เพราะหญิงสาวที่นอนอยู่กลางบ้าน คือ “น้ำผึ้ง” เด็กที่จันดีพบในป่ากระถิน ข้างไซต์งานก่อสร้างที่จันดีทำงานอยู่ที่มีคนเอามาทิ้งไว้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ด้วยสัญชาตญาณในตอนนั้น จันดีเรียกแทนตัวเองว่า “แม่” ตั้งแต่นาทีแรกที่พบน้ำผึ้ง ด้วยอารมณ์สงสารปนเวทนา จันดีตัดสินใจอุ้มน้ำผึ้งกลับมาเลี้ยงดูต่อที่บ้าน

 

แต่ด้วยฐานะของครอบครัวที่ยากจน  จันดีจำต้องหอบน้ำผึ้งในวัยแบเบาะ เข้ามาหางานทำในเมืองหลวง สุดท้ายเธอได้งานทำในไซต์ก่อสร้าง โดยอาศัยที่ทำงานเป็นที่นอนให้เธอกับลูกด้วย ... เวลาผ่านไปจะครบปี แต่น้ำผึ้งกลับไม่มีทีท่าว่าจะคลาน  หรือเริ่มพลิกตัวเหมือนเด็กคนอื่น ๆ  จันดีเริ่มกระวนกระวายใจ เห็นหน้าลูกทีไร ก็มีแต่ความเจ็บปวดเกิดขึ้นมาในใจทุกที

 

”ไปโรงพยาบาลรามาฯ สิ ลูกแกจะเป็นหรือตาย หมอเขาบอกได้เลย ” คำพูดจากเพื่อนคนงาน ทำให้เธอกระเสือกกระสนหาหนทางพาน้ำผึ้งมาให้ถึงมือหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดีโดยเร็วที่สุด ไม่นานก็ทำให้ทราบว่าลูกเธอพิการทางสมอง ซ้ำเติมด้วยอาการประหลาดที่ไม่สามารถเคี้ยวหรือกลืนอาหารได้ 

 

ความทุกข์ใจของจันดีไม่ได้มีแค่ความพะวงเกี่ยวกับอาการป่วยของน้ำผึ้ง แต่ยังมียอดเงินค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้ง ที่ทำให้จันดีต้องกุมขมับ ลำพังคนหาเช้ากินค่ำอย่างจันดี ก็แทบจะเลี้ยงสองชีวิตไม่ได้  งานสังคมสงเคราะห์ จึงยื่นมือช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลลูกเธอ ...จันดีบอกว่า เธอรู้มาตลอดว่า เงินที่ช่วยเธอและลูกทุกวันนี้ มาจากน้ำใจจาก “ผู้ให้” ที่บริจาคเงินช่วยเหลือผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ...เล่าจบ จันดีหันหน้ามาทางฉันพร้อมกับพูดด้วยสีหน้าจริงจังว่า “เพราะฉะนั้น ฉันจึงใช้เงินทุกบาททุกสตางค์รักษาลูกฉันให้คุ้มค่าที่สุด”

 

ปลายปี 2549  จันดีทราบข่าวว่าแม่ของเธอป่วยเป็นอัมพฤกษ์กระทันหัน จึงตัดสินใจพาน้ำผึ้งเดินทางกลับอุทัยธานี เธอตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทิ้งชีวิตวุ่นวายในเมืองหลวง และกลับมาก่อร่างสร้างชีวิตใหม่ด้วยสองมือของเธอเองที่บ้านเกิด    ... “ชีวิตใหม่” ของครอบครัวจันดี คือสิ่งที่ฉันกำลังเห็นอยู่ตรงหน้า...บ้านหลังเล็ก ๆ ที่จันดีเล่าว่าเธอบรรจงตอกประตูแต่ละตัวด้วยตัวเอง รอบบ้านเขียวชอุ่มไปด้วยแปลงผักและผลไม้หลากหลายชนิด หลังบ้านก่ออิฐเตี้ย ๆ เป็นบ่อเลี้ยงปลาหลายสิบตัว ถัดไปเป็นคอกเลี้ยงสัตว์ ที่มีเป็ด ไก่ อยู่ด้วยกันเกือบ 20 ชีวิต

 

ทุกวันนี้ จันดีและครอบครัวมีกินมีใช้จากสิ่งที่หาได้ภายในรั้วบ้าน เงินพอเหลือเก็บเป็นค่ารถพาน้ำผึ้งไปหาหมอที่ตัวอำเภอ เหนือสิ่งอื่นใด คือช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทุกคนในครอบครัวได้อยู่กับพร้อมหน้าพร้อมตา

 

เราใช้คุกกี้เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และการใช้งานของเว็บไซต์ อ่านเพิ่มเติม